เหตุการณ์ภายหลัง ของ การชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภาไทย 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551

พิธีพระราชทานเพลิงศพ

ประชาชนจำนวนมากที่เข้าเฝ้ารับเสด็จ และร่วมในพิธีพระราชทานเพลิงศพ

วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2551 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ไปยังเมรุวัดศรีประวัติ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เพื่อทรงเป็นประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551 โดยมีพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ต่าง ๆ เฝ้ารับเสด็จ แต่ไม่ปรากฏบุคลากรจากฝ่ายตำรวจที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ นอกจากนี้ทรงได้รับการต้อนรับอย่างปีติยินดีจากผู้ชุมนุมฝ่ายพันธมิตรฯ หลายคน ณ ที่นั้น[11][12]

สมเด็จพระบรมราชินีนาถมีพระราชปฏิสันถารกับครอบครัวของผู้เสียชีวิต ซึ่งนายจินดา ระดับปัญญาวุฒิ บิดาของนางสาวอังคณา เปิดเผยว่าทรงแสดงความกังวลในสวัสดิภาพของผู้ชุมนุม และรับสั่งว่าจะจัดดอกไม้มาพระราชทานภายหลังด้วย[12] กับทั้งมีพระราชปฏิสันถารกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งนายสนธิมิได้เปิดเผยรายละเอียด กล่าวเพียงว่าเป็นแต่เรื่องส่วนตัวที่ไม่สำคัญนัก[11]

ก่อนหน้านี้ สมเด็จพระบรมราชินีนาถได้ทรงพระราชอุทิศเงินจำนวนหนึ่งล้านบาทเป็นค่ารักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บในการจลาจลดังกล่าวทั้งสองฝ่าย ซึ่งฝ่ายพันธมิตรฯ กล่าวว่าเป็นสัญญาณแห่งการสนับสนุนฝ่ายตน [13]

ปฏิกิริยาจากกองทัพ

ในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก, พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ, พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ร่วมกันออกอากาศในรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ ทางช่อง 3 โดยมี นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกและแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น[14]

ซึ่งการที่ผู้นำเหล่าทัพทั้งหมดได้พร้อมใจกันออกรายการโทรทัศน์เรียกร้องให้รัฐบาลลาออกครั้งนี้ ไม่เคยมีปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย จึงมีผู้เรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า เป็น "การปฏิวัติผ่านหน้าจอ"[15]โดยวิกิลีกส์รายงานว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชกระแสรับสั่งห้ามไม่ให้มีการรัฐประหารจึงกลายเป็นที่มาของการที่ พล.อ.อนุพงษ์ เรียกร้องให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือยุบสภา

ปฏิกิริยาจากแกนนำชุมนุม

วันที่ 27 ตุลาคม 2551 นาย สนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวตำหนิแนวทางให้หยุดการชุมนุมโดยให้เจราจาทุกฝ่ายของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เขากล่าวถึงความจำเป็นในการชุมนุมเนื่องจากมีกลุ่มไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และกล่าวว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บมากถึง 400 คน[16]สืบเนื่องจากดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เรียกร้องให้มีการเจรจาทุกฝ่ายเพื่อนำไปสู่การยุติการชุมนุมในวันที่ 26 ตุลาคม 2551 [17]

ในวันที่ 31 ตุลาคม 2551 พลตรี จำลอง ศรีเมือง [18]กล่าวตำหนิ ดร.ดิสธร วัชโรทัย อันเนื่องมาจากก่อนหน้านี้ นายดิสธร วัชโรทัย ได้กล่าว ในวันที่ 30 ตุลาคม 2551 ว่าถ้ารักในหลวงให้อยู่ชุมพร ไม่ต้องไปที่อื่น รักในหลวงให้อยู่บ้าน รักในหลวงให้กลับบ้าน คุณไปแสดงพลังตรงนั้นไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย รังแต่จะทำให้เกิดความแตกแยก ผมกล้าพูดตรงนี้เพราะผมเป็นตัวจริงเสียงจริงนะครับ รับพระราชกระแสมาเองว่า พวกเราต้องขยาย ทำอย่างไรให้เขาทราบว่า เรามีหน้าที่และทำหน้าที่อะไร ผมไม่ได้เข้าข้างใคร ผมไม่รู้ว่าใครผิดใครถูก ผมรู้อย่างเดียวว่า ผมอยู่พรรคในหลวง และพรรคนี้ใหญ่โตมาก[19]การแสดงออกดังกล่าวถูกตีความอย่างกว้างว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไม่พอพระทัยการชุมนุมยึดทำเนียบรัฐบาลและปิดสนามบินของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เนื่องจากนาย ดร.ดิสธร วัชโรทัย มีตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการพระราชวัง ราชการบริหารส่วนกลาง ณ เวลานั้น[20]

ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดผู้ที่เกี่ยวข้อง

วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2552 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ซึ่งมี นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช.ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้พิจารณาคดีสั่งการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ซึ่งที่ประชุมมีมติชี้มูลความผิดนักการเมืองและนายตำรวจที่เกี่ยวข้อง ตามข้อกล่าวหา ประกอบด้วย

  1. สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี มีความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งเรียกประชุม ครม.นัดพิเศษในคืนวันที่ 6 ตุลาคม 2551 โดยมอบหมายให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้สั่งการ และเปิดทางให้ ส.ส.และ ส.ว.เข้าสู่รัฐสภา ซึ่งที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด 8 ต่อ 1
  2. พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี มีความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานเป็นผู้รับผิดชอบเหตุการณ์ และสั่งการให้ตำรวจผลักดันผู้ชุมนุมโดยใช้แก๊สน้ำตา ซึ่งที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด 6 ต่อ 3
  3. พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ในฐานะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่ เมื่อเกิดเหตุรุนแรงจนถึงขั้นผู้ชุมนุมบาดเจ็บสาหัส ถึงขนาดขาขาดแขนขาด ก็ต้องยับยั้งมิให้เหตุการณ์ลุกลามต่อไป และมีการให้การจากพยานว่า เป็นผู้สั่งการสลายการชุมนุม จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและมีความผิดวินัยร้ายแรง ซึ่งที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด 8 ต่อ 1
  4. พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น.ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ และเป็นเจ้าของพื้นที่ มีความผิดวินัยร้ายแรงและอาญา เช่นกัน โดยที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด 8 ต่อ 1

สำหรับ พลตำรวจตรี ลิขิต กลิ่นอวล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พลตำรวจตรี เอกรัตน์ มีปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พลตำรวจตรี วิบูลย์ บางท่าไม้ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พลตำรวจตรี จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ออกปฏิบัติหน้าที่ในการสลายการชุมนุมครั้งนี้ ทั้งหมด เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในความควบคุมรับผิดชอบและสั่งการของผู้บัญชาการตำรวจ นครบาล ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พฤติการณ์และพยานหลักฐานยังไม่พอฟังว่ามีมูลเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ราชการ จึงให้ข้อกล่าวหาตกไป

ส่วน พลตำรวจเอก วิโรจน์ พหลเวชช์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่ามีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อเหตุการณ์ที่เกิด ขึ้นดังกล่าว ข้อกล่าวหาไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหาตกไป ให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยพลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และพลตำรวจโท สุชาติ เหมือนแก้ว และไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และพลตำรวจโท สุชาติ เหมือนแก้ว ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง[21]

บทสรุป ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษายกฟ้อง 4 จำเลย คดีสลายชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551 โดยศาลชี้ว่าไม่ได้ทำผิดตามคำฟ้อง[22]

แหล่งที่มา

WikiPedia: การชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภาไทย 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551 http://www.bangkokbiznews.com/2008/10/13/news_3029... http://hilight.kapook.com/view/29640 http://prachatai.com/journal/2013/10/49129 http://in.reuters.com/article/worldNews/idINIndia-... http://news.sanook.com/politic/politic_309706.php http://www.siamintelligence.com/chawalitr-uncomfor... http://www.talkystory.com/site/print.php?id=4233 http://tnews.teenee.com/politic/27905.html http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID... http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?Ne...